ไม่ใช่เพียงแต่คนภายนอกที่ต้องปรับทัศนคติ ชาวLGBTด้วยกันก็ควรทำด้วย !

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ชาวLGBT รู้สึกว่าไม่ได้รับโอกาสมากเท่าที่ควรก็คือ “ทัศนคติ” ของคนทั่วไปที่มีต่อพวกเขา หลายครั้งชาวLGBTมักจะคิดว่าที่ไม่สามารถแสดงออกได้เต็มที่ เป็นเพราะคนทั่วไปตั้งแง่, รังเกียจ, อคติแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ชาวLGBTด้วยกันเองก็มีส่วนในการกำหนดพื้นที่ตัวเอง ลืมไปแล้วว่าถ้าอยากให้คนอื่นยอมรับ ตัวเราเองก็ต้องแสดงคุณค่าให้เขาเห็น มากกว่าการร้องแร่แห่กระเชิงให้เขายิ่งดูถูกไปกันใหญ่

หากว่าชาวLGBTก็ใช่ว่าจะเลวร้ายไปเสียทุกคน หลายคนก็มีความน่ารักอยู่ในตัว
ในมุมกลับกัน เพื่อนชายจริงหญิงแท้ก็ไม่ต่างกัน ใช่ว่าจะมีแต่คนที่อคติต่อเพศที่สามเสียเมื่อไหร่
มันเป็นธรรมดาของโลกที่ในกลุ่มหนึ่งจะต้องมีทั้งดีและเสีย
เพราะเหตุนี้ ชาวLGBTจึงต้องหันมากลับมาพิจารณาตัวเองบ้างว่า
“ประพฤติตัวให้สมกับที่ต้องการสิทธิหรือเปล่า?”
บางทีแล้วคนทั่วไปก็ไม่ได้เลือกปฏิบัติแบบเหมารวมกับเพศที่สามไปเสียหมด
พวกเขาก็มีสิทธิที่จะไม่รู้สึกยินดียินร้ายเป็นเฉพาะรายบุคคลไป

ถ้ายังอยากให้ตัวเอง(รวมถึงเพื่อนLGBTด้วยกัน)มีค่า ก็ไม่ควรสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับตัวเองก่อน

1. อวยLGBT แต่อคติกับหญิงชายทั่วไป
ยิ่งจำกัดตัวเองให้อยู่เฉพาะกลุ่มไหน ความกว้างไกลก็ยิ่งหาได้มีในตัวเรา ถ้าอยากให้คนในทุกแวดวงยอมรับก็ต้องหัดเปิดใจรับฟังทุกคนทุกความคิดอย่างเป็นอิสระบ้าง ผู้ชาย/ผู้หญิงที่เคยทำร้าย ก็ใช่ว่าโลกนี้ทั้งโลกผู้ชาย/ผู้หญิงจะเป็นคนไม่ดีไปเสียหมด ไม่อยากให้ใครมาเหมารสนิยมในแบบของคุณ คุณก็อย่าไปเหมารวมคนอื่นก่อนก็แค่นั้น หรือถ้าจะยกย่องLGBTด้วยกันเอง ก็ไม่จำเป็นเลยสักนิดที่จะเป็นวิธีที่ต้องเหยียดคนอื่นถึงจะดูเก๋

2. แสดงออกชัดเจนว่าเป็นคนง่ายกับ sex
ลำพังแล้วกลุ่มเพศที่สามก็ถูกจัดให้เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่แล้ว (ตัวอย่างเช่น การที่สภากาชาดไทยยังไม่สามารถรับเลือดจากคนที่มีประวัติรักร่วมเพศได้) ก็อย่าเป็นอีกคนที่ทำให้กรณีนี้มันชัดเจนขึ้นมาในสายตาคนทั่วไปเลย ถึงจะเป็นคนมีความต้องการทางเพศสูงจริง ๆ ก็ควรเก็บไว้เป็นเรื่องลับที่สุดดีกว่า

3. ทำตัวหยาบคาย ป่าเถื่อน
ปัญหานี้พบมากในLGBTที่เป็นวัยรุ่นกำลังเฮี้ยว หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเปิดตัวแรง ๆ ให้ชัดเจนไปเลยนี่แหละดี ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็นว่าเป็นLGBTแล้วจะต้องแสดงออกชัดเจนมากมายขนาดนั้น หลายคนที่เป็นLGBTวัยผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จได้ก็ใช่ว่าจะได้ดีเพราะการอยากเด่นอยากดังเสียเมื่อไหร่ พวกเขาต่างก็โฟกัสที่การทำหน้าที่แต่ละวัยให้ดีที่สุดเพื่อลบคำสบประมาทของคนอื่น ๆ ต่างหาก

4. ขัดขาLGBTด้วยกันเอง
ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม ความอิจฉาริษยาไม่ช่วยให้ใครดีขึ้น ใครจะเป็นอะไรก็ปล่อยเขาไปเถอะ ถ้าเพื่อนLGBTด้วยกันได้ดีมีสุขก็ควรยินดีกับเขาด้วย ถ้าใครพลาดก็ไม่ต้องไปซ้ำเติมเป็นเรื่องสนุก หรือถ้าไม่รู้สึกอะไรเลย ก็เงียบเฉยไปดีกว่าการจ้องหาเรื่องกัน ถ้าLGBTไม่เข้าใจกันเอง แล้วจะหวังให้ใครมาเข้าใจ จริงมั้ย?

สุดท้ายแล้ว เราจะมีค่าหรือไม่ก็อยู่ที่ “เราสร้างคุณค่าให้ตัวเราเอง” ได้มากเท่าไหร่ค่ะ
ถามใจตัวเองดู ไม่จำเป็นต้องถามผลโหวตจากคนอื่น ถ้าเราดีจริง ไปไหนใครก็พร้อมต้อนรับเสมอ
แต่ถ้ามีคนตำหนิ เราก็แค่หยุดทบทวนตัวเองเท่านั้น เป็นจริงก็ควรปรับปรุง ไม่เป็นจริงก็เชิด !
เดินหน้าทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีกันต่อไป โลกจะสวยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าเรามองยังไงค่ะ

About thailgbt 52 Articles
พูดคุยเกี่ยวกับชาวLGBTบ้านเราแบบง่าย ๆ สบาย ๆ อ่านเข้าใจง่าย ศัพท์ไม่ยาก ไม่วิชาการเกินไป แชร์จากประสบการณ์บ้าง จากสื่อที่รู้เห็นมาบ้าง

Be the first to comment

Leave a Reply