เกย์ กะเทย vs พระตุ๊ด เณรแต๋ว

เห็นพาดหัวแล้วดูเหมือนจะจริงจัง ซีเรียส วิชาการเกินไป แต่ในโพสต์นี้จริง ๆ แล้วอยากจะพูดกันแบบง่าย ๆ สบาย ๆ ค่ะ เอาแบบไม่เจาะลึกมาก เพราะแอดมินเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศาสนาโดยเฉพาะ อีกทั้งเรื่องLGBTก็พอจะรู้ก็เพียงแค่เคยมีประสบการณ์และเคยได้ยินประสบการณ์จากเพื่อนที่เป็น LGBT เท่านั้นเอง

 

เพราะฉะนั้น โพสต์นี้แอดมินจะมาชวนคุยกันถึงประเด็นง่าย ๆ ค่ะ เช่น เป็นเกย์เป็นกะเทยบวชได้มั้ย? เณรที่บวชแล้วมีท่าทีตุ้งติ้งบาปรึเปล่า?

 

ต้องทำความเข้าใจอันดับแรกก่อนนะคะว่า การเลือกเพศเป็นคนละเรื่องกับดี-ชั่ว เพราะฉะนั้น ถ้าสมมติว่าคนหนึ่งเป็นเกย์-กะเทย แล้วดำเนินชีวิตอย่างลำบาก นั่นไม่ได้แปลว่าเขามีกรรมเพราะการเลือกเพศค่ะ มันต้องดูไปถึงปัจจัยอื่นในบริบทที่เทียบกับคนธรรมดาทั่วไปด้วย เช่น คนนี้เขาไปทำร้ายคนอื่นรึเปล่า, เคยล่วงเกินใครรึเปล่า การโยงว่าเพราะเป็นเกย์-กะเทย จึงมีกรรม เลยเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ค่ะ ไม่อย่างนั้น เราก็คงไม่เห็นกะเทย-เกย์ที่มีชีวิตเป็นปกติสุขดีอีกตั้งมากมาย

 

ส่วนในเรื่องของการบวช ตามปกติที่เราเห็นกันคือ เรายังไม่เห็น “ผู้หญิงข้ามเพศ” บวชค่ะ อาจเป็นไปได้ว่า การตีความว่าห้ามคนที่มีลักษณะเป็นหญิงบวชในปัจจุบัน แปลว่าห้ามกะเทยที่ไว้ผมยาว มีหน้าอกชัดเจน มีลักษณะทางเพศที่เป็นผู้หญิงชัดเจนค่ะ (อนึ่ง ถ้าจะให้เป็นสามเณรี หรือภิกษุณีก็ไม่ได้ เพราะนักบวชหญิงประเภทนี้ต้องไปบวชที่อินเดีย หรือศรีลังกาเท่านั้นค่ะ เนื่องจากบ้านเราไม่มีภิกษุณีที่จะมากพอจะเป็นพระพี่เลี้ยงได้) ส่วนคนที่มีลักษณะภายนอกเป็นชาย เช่น เกย์, กะเทยที่ไม่แต่งหญิง (คือแต่งหญิงแค่ชั่วครั้งชั่วคราวตามงานต่าง ๆ แต่ไม่ถึงกับแปลงเพศแล้ว มีผมยาวแล้ว) ก็อนุโลมให้บวชได้

 

โดยสรุปสำหรับในการบวชก็คือ บ้านเราอนุโลมให้คนที่มีลักษณะภายนอกเป็นผู้ชายคนหนึ่ง สามารถบวชได้ค่ะ ไม่ว่าจะบวชหน้าไฟ หรือบวชทดแทนพระคุณสักระยะหนึ่ง (สำหรับเพื่อนแอดมินที่เป็นกะเทย เธอเคยบวชให้แม่เป็นเวลา 1 เดือนค่ะ หลังจากที่แม่เสียชีวิตไปได้ปีกว่าแล้ว มีใบขออนุญาตบวชด้วย(เรียกไม่ถูกว่าอะไรค่ะ แต่จะมีฉายาให้ด้วย คล้ายกับใบรับรองว่าอนุญาตให้บวชได้) งานค่อนข้างใหญ่โต เป็นทางการค่ะ)

 

ทีนี้มาถึงอีกประเด็นหนึ่ง “ถ้าคนที่บวชไปแล้วออกลายเป็นพระตุ๊ด เณรแต๋วล่ะ?”

ในกรณีนี้จะขอให้มองอย่างเป็นกลางหน่อยค่ะ เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ถกเถียงกันไม่จบสิ้นในขณะนี้ สำหรับแอดมินแล้ว คนที่บวชไปแล้วเป็นพระตุ๊ด เณรแต๋ว แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมอย่างที่เราเห็นกันในโซเชียลบ่อย ๆ ก็สมควรที่จะถูกประณาม จับสึกให้เป็นเรื่องราวเสียก็จริง แต่ก็ต้องมองอีกมุมด้วยค่ะว่า บางคนเขาฐานะยากจน ไม่มีเงินที่จะเข้าเรียนในระบบการศึกษาตามปกติอย่างคนทั่วไป เพราะฉะนั้น เพื่อเข้าถึงการศึกษาได้สะดวกที่สุด การบวชเรียนนี่แหละค่ะคือใบเบิกทางที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นก็เท่านั้นเองค่ะ (เช่น อดทนบวชเรียนสักระยะหนึ่งค่อยลาสิกขา นำวุฒิที่ได้ไปทำงาน ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปในภายหลัง) และบางคนถึงแม้จะเคยเป็นชายรักชายมาก่อน แต่เมื่อเป็นสมณะเพศก็เลือกที่จะสำรวมกิริยาเพื่อเข้าถึงทางธรรมได้อย่างไม่มีปัญหา

 

อีกประเด็นที่แถมมาก็คือ “เป็นไปได้หรือไม่ที่แต่แรกเป็นชายแท้ แต่พอบวชแล้วอยู่ในสังคมที่มีแต่ผู้ชายด้วยกัน ก็เกิดชอบพอกับผู้ชายด้วยกันเสียเลย?” แอดมินไม่ทราบค่ะว่ามีจริงหรือไม่ แต่ก็มีความเป็นได้อยู่บ้างนิ๊ดดดดเดียว… แต่!!! ในกรณีนี้ถ้าเป็นชายรักชายขณะที่เป็นพระ ไม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหล่อหลอมแต่อย่างใดค่ะ น่าจะเป็นเพราะชายคนนี้มีพึงพอใจเพศเดียวกันแต่แรกอยู่แล้ว พอมาเจอสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างเป็นใจ เลยรู้สึกชัดเจนกับความรู้สึกส่วนลึกมากกว่า

 

สรุปอีกทีก็คือ ในกรณีของพระตุ๊ดเณรแต๋ว ถึงแม้จะไม่มีใครเห็นว่าเป็นภาพที่เหมาะสม แต่ในความไม่เหมาะสมนั้นก็ยังมีความจำเป็นของบางคนอยู่ด้วยค่ะ ยังเป็นประเด็นที่บ้านเราต้องถกเถียงกันยาวเลยสำหรับเรื่องนี้ แอดมินอาร์ตี้อยากให้มองในแง่ของการเข้าถึงธรรมได้โดยไม่ปิดกั้นเพศ และหนทางชีวิตที่เลือกไม่ได้ของบางคนเสียมากกว่าค่ะ

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ศาสนาจะยังมีข้อถกเถียงกันไม่จบสิ้น แอดมินก็ขอยืนยันอีกเสียงหนึ่งค่ะว่า การเป็นคนดีกับการเลือกเพศมันเป็นคนละเรื่องกัน … ทุกคนสามารถเป็นคนดีได้ และการเป็นคนดีนั้น บางทีก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องบวช หรือจะต้องมีศาสนาเสมอไปค่ะ … ดีเพราะเนื้อแท้ของตัวเอง ดีเพราะธรรมชาติจากการวิเคราะห์ได้ สังเคราะห์เป็น ดีกับคนอื่นได้เหมือนกับที่ดีกับตัวเอง เท่านี้ก็เรียกว่าคนดีได้โดยไม่ต้องไปนิยามด้วยศาสนาหรือเพศให้วุ่นวายแล้วค่ะ… คนดีก็คือคนดี แค่นี้จบพอ

About thailgbt 52 Articles
พูดคุยเกี่ยวกับชาวLGBTบ้านเราแบบง่าย ๆ สบาย ๆ อ่านเข้าใจง่าย ศัพท์ไม่ยาก ไม่วิชาการเกินไป แชร์จากประสบการณ์บ้าง จากสื่อที่รู้เห็นมาบ้าง

Be the first to comment

Leave a Reply