อคติทางเพศส่งผลต่อชีวิต LGBTอย่างไรบ้าง?

ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใดสำหรับการเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายและความเท่าเทียมกันในการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ ของชาวLGBT ที่พยายามทำให้ทุกอย่างไม่แปลกแยกไปจากชายจริงหญิงแท้ทั่วไป เราต่างก็เห็นความเคลื่อนไหวตามข่าวสารต่าง ๆ มาบ้างเป็นระยะ ๆ แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือ “เหตุใดจึงยังไม่เป็นรูปธรรมอย่างสมบูรณ์เสียทีนะ?”

 

และแม้ว่าในเร็ว ๆ นี้อเมริกาเพิ่งจะเปิดโอกาสให้ชาวเกย์สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ตามกฎหมายจนเป็นข่าวคึกโครมให้ชาวโลกได้หันมาสนใจและแสดงความยินดี แต่ก็ยังไม่สามารถลบล้างอคติทางเพศจากคนทั่วไปได้เสียหมด ตราบใดที่เรายังยึดศาสนา, ความเชื่อ, ธรรมเนียมประเพณี, กฎหมาย, กฎระเบียบการสมัครงาน, กฎในสถานศึกษา และกฎระเบียบอีกมากในโลกนี้โดยยึดเพียงแค่ชาย-หญิงเป็นหลัก มากกว่าจะยึดที่ความเป็นมนุษย์เป็นสำคัญ

 

ยังอีกนานกว่าที่ชาวโลกจะอ้าแขนรับชาวLGBTได้อย่างเต็มที่

และยังอีกนานที่คนทั่วไปจะเข้าใจหัวอกของLGBTได้ดี

ก่อนที่จะมองไปถึงกฎหมาย เรามามองกันในมุมของเพื่อนมนุษย์ที่เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งกัน

เพียงแค่ “อคติทางเพศ” ผ่านการแซวเล่น ตั้งใจเหยียดโดยตรง

หรือไม่ยอมปรับกฎเกณฑ์ที่เอื้อกับLGBTมากขึ้น

ส่งผลกระทบต่อชีวิตLGBTมากน้อยเพียงใดบ้าง… มาดูความลำบากของพวกเขากันทีละข้อ

  1. อคติทางเพศมันทำให้LGBTยังคงเป็นตัวตลก

ในสายตาของคนทั่วไปเมื่อเห็นอะไรแปลกก็ตาม น้อยคนนักที่จะเห็นความแปลก = ความแตกต่างที่เปิดโลกทัศน์ใหม่ น่าชื่นชม ส่วนมากจะแปลความหมายว่า แปลก = น่าขบขัน น่าแกล้ง ดังนั้น เวลาที่เราเห็นคนที่มีลักษณะภายนอกแปลก ๆ เราก็มักจะเห็นพวกเขาเป็นตัวตลก น่าแหย่ น่าแกล้ง คอยสร้างเสียงหัวเราะให้เราเสมอ แต่ลืมไปว่าเขาก็ต้องการเพื่อนที่สามารถปรึกษาได้อย่างจริงจัง ต้องการช่วงเวลาเงียบ ๆ สักช่วงที่เว้นวรรคจากการเป็นตัวตลกบ้าง

 

“ความตลกทำให้บางครั้งมันย้อนกลับมาทำร้ายตัวพวกเขาเอง” เช่น เพราะเป็นกะเทยตลกก็ต้องเป็นพวกอยู่กับความตลก ไม่จริงจัง เมื่อมีความรักก็ยากนักที่จะมีคนเชื่อใจ พูดอะไรไปก็กลายเป็นเรื่องขำไปซะหมด น้อยคนนักจะเห็นว่า “ฉันกำลังเอาจริงนะ”

 

  1. อคติทางเพศมันทำให้LGBTถูกคุกคามทางเพศได้ง่าย

เพราะสื่อยังคงนำเสนอLGBTที่เน้นความแปลกมากกว่าสร้างสรรค์ ไม่นำเสนอรอบด้าน เช่น ข่าวการแต่งงานระหว่างคู่รักเกย์ที่คนหนึ่งหล่อมากอีกคนหน้าตาธรรมดามาก (เพื่อหวังให้คนดูเข้ามาหัวเราะขบขันมากกว่าชื่นชม), ข่าวคู่เลสเบี้ยนที่สวยทั้งคู่ (เพื่อหวังให้ผู้ชายเข้ามาแสดงความเสียดาย หรือขายความแปลกให้คนเสพสื่อทั่วไปได้จินตนาการอย่างสนุกปาก), ข่าวอาชญากรรมหึงหวงระหว่างคู่ทอมดี้ (เพื่อให้คนเข้ามาตอกย้ำว่าทอมดี้แบบนี้มีอยู่เยอะมาก) ยิ่งมีกระแสในโซเชียลที่มีแต่การ “โชว์ของนัดsex ยิ่งน่าแปลกที่สื่อที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการนำเสนอข่าว กลับยังเสนอแต่ด้านแย่ ๆ ของLGBTมากกว่าจะเสนอในด้านดีบ้าง (ถ้าเทียบสัดส่วนด้านแย่ : ดี ก็ตกที่ประมาณ 90:10)

 

ในเมื่อเนื้อหาความรุนแรงของLGBTบางส่วนยังมีสาเหตุมาจากเรื่องsex คนที่รับสื่อโดยเฉพาะคนทั่วไป โดยเฉพาะคนที่อคติกับLGBTจึงคิดว่าLGBTเป็นพวก “มักมากในกาม” หรือ “ง่ายต่อเรื่องเพศ” ทำให้บางครั้งนึกจะล่วงละเมิดพวกเขาอย่างไรก็ได้ บางคนก็นึกสนุก นึกลองของ ยิ่งไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองLGBTในกรณีถูกข่มขืน ยิ่งเป็นช่องทางให้ถูกฉวยโอกาสได้มาก

 

  1. คุณสมบัติการรับสมัครงานบางองค์กรทำให้เกิดความ “พลาด” ไปอย่างน่าเสียดาย

เป็นที่รู้กันดีว่าLGBTส่วนใหญ่มีความคิดไม่เหมือนใคร สร้างสรรค์ และค่อนข้างทำงานออกมาได้สุดยอดมาก ดังนั้น ถ้าบางองค์กรยังจำกัดแค่เพศหญิงและ/หรือชาย ก็เท่ากับว่าองค์กรนั้นกั๊กความก้าวหน้าไว้แค่2เพศนี้เท่านั้น น่าเสียดายที่ไม่เปิดโอกาสให้เพศทางเลือกมาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาให้กว้างไกลกว่านี้

 

  1. อคติทางเพศทำให้คนเราลดความเป็นมนุษย์ลงไปมาก

บางนิกายศาสนารุนแรงถึงกับต้องประณามว่าคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องบาป บางนิกายศาสนาถึงกับทำร้ายร่างกายคนรักเพศเดียวกันเพื่อเป็นการทำโทษ แต่กลับไม่มองว่าการทำร้ายร่างกายกันต่างหากที่บาป ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นเพศไหน ศาสนาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องไปพิพากษาชีวิตใครถึงขนาดนั้น… นี่หรือคนนับถือศาสนา? นับถือศาสนาเพื่อสร้างความดีให้ตัวเองแต่แลกมาด้วยการเหยียดคนอื่นหรือ?

 

  1. กฎหมายที่ไม่รับรองสิทธิการรักษาพยาบาล ทำให้คู่สมรสเพศเดียวกันลำบาก

ตามกฎหมายแล้ว หากผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการผ่าตัด อนุญาตให้เซ็นยินยอมได้เฉพาะญาติและคู่สมรสตามกฎหมายเท่านั้น นั่นก็แปลว่า หากกฎหมายการจดทะเบียนสมรสยังกำหนดให้เป็นแค่คู่ชายหญิง คู่รักที่เป็นLGBTก็หมดสิทธินี้ไปโดยปริยาย (มันคงเป็นภาพที่เจ็บปวดไม่รู้ลืมในสายตาLGBT เมื่อเห็นคนรักกำลังจะตายต่อหน้าต่อตาโดยที่ตัวเองไม่มีสิทธิเซ็นยินยอมเลยสักนิด)

 

  1. กฎหมายที่ไม่รับรองสิทธิทางมรดกให้กับคู่สมรสเพศเดียวกัน ยิ่งส่งผลให้บั้นปลายชีวิตของLGBTลำบาก

นอกจากสิทธิการรักษาพยาบาล(อย่างในข้อ5)ที่ได้รับผลกระทบสืบเนื่องมาจากกฎหมายการจดทะเบียนสมรสที่ยังคงสงวนไว้ให้กับชายและหญิง สิทธิทางมรดกก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ได้ผลกระทบอย่างมาก

 

สมมติว่า A และ B เป็นคู่รักเลสเบี้ยนกัน ตั้งใจว่าจะอยู่กินเป็นครอบครัวเดียวกัน แต่อยู่มาวันหนึ่ง A ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต หากมีการจัดการทรัพย์สินให้ถูกต้องกันตามกฎหมาย สิ่งที่ B จะได้จาก A ก็เท่ากับว่าเป็น 0 และมีโอกาสสูงมากที่ทรัพย์สินที่ร่วมสร้างกับ A จะถูกแบ่งสันปันส่วนไปยังพ่อแม่ของ A เท่านั้น (อีกทั้งในปัจจุบันก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า จะมีบริษัทประกันใดที่รองรับคู่สมรสเพศเดียวกันได้ นั่นก็เพราะกฎหมายที่ยังไม่ถูกแก้เช่นกัน)

 

นี่แค่ตัวอย่างประเด็นสำคัญนะคะที่LGBTส่วนใหญ่เจอกับตัวเอง ยังมีอีกหลายอย่างมากที่LGBTถูกกีดกั้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในแบบที่มีเหตุผล(ข้ออ้าง)สารพัดมาหักล้าง และการอคติแบบไม่มีเหตุผลอีกมาก นี่แหละค่ะ เราถึงต้องแสดงความชื่นชมยินดีให้กับพวกเขา หากว่ามีความเคลื่อนไหวใดก็ตาม ไม่ใช่เพียงแค่ให้พวกเขาได้มีที่ยืนเท่านั้น แต่ก็เพื่อให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น เข้าใจโลกได้ดีขึ้นต่างหาก นี่แหละคือประเด็นสำคัญที่สุด

 

 

 

About thailgbt 52 Articles
พูดคุยเกี่ยวกับชาวLGBTบ้านเราแบบง่าย ๆ สบาย ๆ อ่านเข้าใจง่าย ศัพท์ไม่ยาก ไม่วิชาการเกินไป แชร์จากประสบการณ์บ้าง จากสื่อที่รู้เห็นมาบ้าง

2 Comments

  1. จริงๆหลายคนที่อคติอาจเพราะเนื่องจากเหตุผลอื่นประกอบด้วยมากกว่า เช่น มีการศึกษาสูงกว่า มีฐานะดีกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า ดังกว่า มีประสบการณ์และโอกาศมากกว่า แต่หยิบยกเรื่องอคติทางเพศมาเป็นประเด็นแค่นั้นเอง

  2. จริงๆเรื่องมรดกนั้น ถ้าทำพินัยกรรมล่วงหน้าเขียนเจาะจงยกให้ภายหลังถึงแก่กรรมโดยยกให้แก่คู่ก็สามารถทำได้ เพราะกม.ย่อมยึดตามพินัยกรรมมาก่อนข้อกม.สืบมรดกตามสายเลือด เนื่องจากถือว่าเป็นเจตนาของเจ้าของทรัพย์สินที่จะยกให้คู่ของตนมากกว่า

Leave a Reply