[พักชมสิ่งที่น่าสนใจ6] เกย์-กะเทยในหนังไทย 15 เรื่อง

ในโพสต์ก่อนหน้านี้ [พักชมสิ่งที่น่าสนใจ5] 10ปีกับเลสเบี้ยน-ทอมในหนังไทย 10 เรื่อง แอดมินอาร์ตี้ได้รีวิวถึงตัวละครที่เป็นหญิงรักหญิงไปแล้ว คราวนี้ลองมาดูฝั่งชายรักชายในหนังไทยกันบ้างว่ามีเรื่องไหนที่น่าสนใจ น่าติดตาม น่าดู ท่ามกลางหนังบ้านเราที่มีตัวละครเป็นเกย์-กะเทย หลายร้อยเรื่อง ขอคัดเฉพาะเรื่องที่โดดเด่น ตัวละครชายรักชายมีบทบาทมากที่สุด และเนื้อหาของเรื่องน่าสนใจที่สุดค่ะ

 

หมายเหตุ

– โพสต์นี้อาจมีการสปอยล์เนื้อเรื่องนิดหน่อยเพื่อสะดวกต่อการบรรยายค่ะ (เป็นบทความแนวรีวิวเช่นเคย)

– ในโพสต์นี้จะพูดถึงเฉพาะหนังที่เคยฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ และภาพยนตร์ที่เคยเป็นข่าวค่ะ ไม่พูดถึงภาพยนตร์ที่จัดฉายเฉพาะทางออนไลน์ เช่น ใน youtube.com

– โพสต์นี้พูดแค่ภาพโดยรวมของแต่ละเรื่อง จะไม่เจาะลึกรายละเอียดเป๊ะ ๆ นะคะ เพื่อเกริ่นเฉย ๆ ว่าstoryและตัวละครชายรักชายน่าติดตามเพียงใดเท่านั้นเอง
stree

  1. สตรีเหล็ก (2543)

หนังไทยเรื่องแรก ๆ ของไทยที่พูดถึงเรื่องกะเทย เป็นหนังเชิงสารคดีถ่ายทอดเรื่องราวของทีมนักวอลเลย์บอลที่มีแต่กะเทย (แต่มีครูฝึกสอนเป็นทอม) ที่เก่งกาจระดับภาคเหนือตอนบน สนุก ซึ้ง ฟีลกู้ด ฉากสวย ดูได้ทุกเพศทุกวัยค่ะ (สมกับเป็นต้นตำรับของGTH เพราะสร้างโดยไท เอนเตอร์เทนเมนท์ ซึ่งเป็น 1 ในทีมGTHปัจจุบันนั่นเอง)

250px-เพื่อน...กูรักมึงว่ะ

  1. เพื่อน… กูรักมึงว่ะ (2550)

เป็นหนังเรื่องแรก ๆ ของไทยที่ให้ตัวละครเอกเป็นเกย์ หนังเป็นแนวดราม่าโรแมนติก กล่าวถึงตัวละครชายคนหนึ่งที่ต้องดิ้นรนชีวิตทุกอย่างเพื่อคนในครอบครัวไปเป็นมือปืนรับจ้าง แล้วโชคชะตาก็ทำให้เขาต้องมารับงานฆ่าตำรวจคนหนึ่ง แต่เพราะความผูกพัน สงสาร เลยเปลี่ยนจากศัตรูเป็นเพื่อน และกลายเป็นคนรักในที่สุด (รักสามเส้าซะด้วย เพราะคนใดคนหนึ่งก็มีแฟนเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว)
757loveofsiam03

  1. รักแห่งสยาม (2550)

ไม่มีใครจำหนังในตำนานเรื่องนี้ได้แน่นอน เพราะเป็นหนังเกย์วัยรุ่นผลงานแจ้งเกิดของผู้กำกับมือทอง มะเดี่ยว-ชูเกียรติ์ อีกทั้งยังแจ้งเกิดให้พระเอกลูกครึ่งมาริโอ้ด้วยเช่นกัน ไม่เพียงแต่พูดถึงความรักในวัยรุ่นชายและชายที่ผูกพันกันมาตั้งแต่เด็ก แต่ยังขยายบริบทอื่นของตัวละครด้วย เช่น เรื่องในครอบครัว, เรื่องของผู้หญิงที่มาแอบชอบ โดยรวมของหนังเรื่องนี้จึงมีทั้งเรื่องที่ยิ้มปนเศร้า และยิ้มปนสุข อบอุ่น รวมอยู่ด้วยกัน
250px-คู่แรด

  1. คู่แรด (2550)

หนังแนวสืบสวน-คอมเมดี้ ที่จับให้กะเทยตลกมาเป็นคู่หูดูโอ้ชั่วคราวกับตำรวจหนุ่มญี่ปุ่น ช่วยกันตามสืบคนร้ายให้ได้ว่าใครเป็นนักฆ่ากะเทย แค่เห็นนักแสดงนำอย่างหม่ำ-จ๊กมก ก็การันตีได้แล้วค่ะว่าเรื่องนี้มีแต่เรื่องฮา ๆ ทะเล้น ๆ ทั้งเรื่อง
143ghoststation02

  1. โกยเถอะเกย์ (2550)

ถ้าใครเคยดูหนังเรื่องบุปผาราตรีมาแล้ว หนังเรื่องนี้ก็มีกลิ่นอายที่ไม่ต่างกัน เพราะเป็นผลงานโดยผู้กำกับคนเดียวกัน “ต้อม-ยุทธเลิศ” โดยจับเอาโครงเรื่องของ broke back the mountain มาล้อเลียนยำใหม่ เป็นหนังแนวฮา ๆ เขย่าขวัญนิด ๆ เน้นไปทางบันเทิงคลายเครียดมากกว่าจะจับหาสาระแก่นเรื่องที่แท้จริง
1430237869-หอแต๋วแตก-2007

  1. หอแต๋วแตก (2550)

หลังจากทำหนังเกย์ดราม่าเปิดตัวไปอย่างสวยงาม มาคราวนี้ผู้กำกับคนเดิม “พจน์ อานนท์” เปลี่ยนมาทำหนังกะเทยอย่างจริงจังบ้าง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าหนังที่ไม่มีแก่นสารสาระอะไรเลย เน้นแต่ความฮา ๆ ล้น ๆ ของกะเทยจนดูโอเวอร์แฟนซีที่ได้รับแต่เสียงด่าของแฟนหนัง กลับมีภาคต่อเรื่อย ๆ 4-5 ภาคจนกระทั่งในปี 2558 นี้ที่กำลังถ่ายทำอีกครั้ง

T0WJ5k

  1. ตั๊ดสู้ฟุด (2550)

หนังกะเทยอารมณ์ดีฝีมือ “จาตุรงค์ มกจ๊ก” ภายใต้แบรนด์ GTH ที่พูดถึงตุ๊ดในกลุ่มคนเชื้อสายจีน เล่าเรื่องของฝาแฝดระดับเจ้าพ่อที่คนหนึ่งเป็นชายแต่ไม่สามารถรับภารกิจเป็นเจ้าพ่อได้ ทำให้ภาระมาตกที่อีกคนหนึ่งที่เป็นตุ๊ด ปฏิบัติการสวมรอยทั้งเรื่องงานและความรักจึงเกิดขึ้นมาอย่างชุลมุนชุลเกในแบบ “ตุ๊ดเจ้าพ่อ” ที่มีเนี้ยบเท่บ้าง แต่ก็มีหลุดบ้างในหลายครั้งหลายครา จนสุดท้ายก็ต้องเผยความจริงให้ทุกคนได้รู้กัน

250px-Amomentinjune

  1. ณ ขณะรัก the moment of june (2552)

พูดถึงความรักของ 2 คู่ 2 พาร์ท พาร์ทหนึ่งย้อนไปถึงอดีตของผู้หญิงที่แอบรักผู้ชายที่มีแฟนอยู่แล้ว ส่วนอีกพาร์ทพูดถึงผู้ชายที่เคยผูกพันลึกซึ้งกับชายคนหนึ่ง สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ทั้ง 2 ความรักนี้ล้วนแต่พลัดพรากจากกันตลอดกาล ไม่หวนกลับคืนมาเจอกันอีก มีเพียงฉากละครของคนหนุ่มสาวยุคใหม่ที่ช่วยเติมบทที่เคยขาดหายไปให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง

Slice

  1. เฉือน (2552)

หนังแนวสืบสวน เขย่าขวัญ เป็นเรื่องของพระเอก(เป้ อารักษ์)ที่ได้รับมอบหมายให้ไปสืบหาฆาตกรต่อเนื่อง ซึ่งฆาตกรนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่นไกลนอกไปเสียจากแฟนสาวของตัวเอง และที่ช็อคไปกว่านั้นก็คือ แฟนสาวของตัวเองคือเพื่อนผู้ชายในวัยเด็ก สมัยที่อยู่บ้านนอกด้วยกัน เธอต้องการฆ่าทุกคนที่ทำให้พระเอกและตัวเธอลำบาก เธอรู้ตัวดีว่าเรื่องพวกนี้มันร้ายแรงเกินกว่าจะอยู่บนโลกนี้ได้ไหวจึงขอให้พระเอกเป็นคนยิงเธอให้ตายไปกับกระท่อมปลายไร่มัน ที่แห่งความหลังของเธอกับพระเอกให้จบ ๆ กันไป ใครที่ชอบแนวดราม่า-เขย่าขวัญ-สืบสวน-สะเทือนใจ แนะนำค่ะสำหรับหนังเรื่องนี้

656_insects_in_the_backyard_poster_01

  1. insect in the backyard (2553)

ผลงานโดย “กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน” ผู้กำกับหนังเพศทางเลือกที่ต้องการจะเสนอด้านมืดของสังคมผ่านตัวละครเพศทางเลือก หนังว่าด้วยเรื่องของพ่อที่เป็นกะเทย แต่มีลูกสาวเป็นเด็ก ม.ปลายขายตัว และมีลูกชายที่เป็นชายรักชาย ถึงแม้ว่าจะมีกระแสวิจารณ์จากคนดูที่ไม่เข้าใจในมุมมองการนำเสนอ อีกทั้งยังโดนแบนไม่ให้ฉาย แต่หนังเรื่องนี้ในบางกลุ่มคนดูก็ถือว่าเป็นหนังที่สะท้อนสังคมได้ดี ค่อนข้างท้าทาย เป็นหนังต้องห้ามที่หลายคนอยากมีไว้ในครอบครองด้วยความน่าสนใจนี้เป็นพิเศษ
667_pic_1473

  1. คน-โลก-จิต (2555)

ถ้าดูจากการหักมุมในท้ายเรื่องว่าพระเอกเคยถูกกระทำชำเราโดยแก๊งเพื่อนของเพื่อน และพ่อเลี้ยงฝรั่งก็คงนึกไม่ออกว่านี่คือหนังของ “อุ๋ย-นนทรี นิมิบุตร” แต่ถ้าดูการดำเนินเรื่องโดยรวมที่มีทั้งวิทยาศาสตร์, จิตวิทยา, การสืบสวน ถือว่าหนังเรื่องนี้ค่อนข้างน่าสนใจในการเล่นกับความคิดของคน… คนเราทุกวันนี้ที่เห็นว่าปกติดี มีสุข แท้จริงแล้วข้างในอาจจะเป็นคนโรคจิตก็ได้

250px-Poster02

  1. ไม่ได้ขอให้มารัก it gets better (2555)

ผลงานอีกเรื่องของ “กอลฟ์-ธัญญ์วาริน” ที่เล่าเรื่องของกะเทยอีกเช่นเคย เพียงแต่ในหนังเรื่องนี้ของคุณกอล์ฟน่าสนใจตรงที่การเล่าไปถึงเกย์ในวงการสงฆ์อีกด้วย ซึ่งน่าสนใจและท้าทายไปไม่น้อยกว่า insect in the backyard (เพียงแต่ในเรื่องนี้ จะซอฟท์กว่าในเรื่องของความรุนแรงเรื่องเพศ)
27290_home

  1. Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ (2555)

ถัดจาก “รักแห่งสยาม” ผู้กำกับคนเดิมก็มีผลงานใหม่ที่เล่าเรื่องเกย์อีกเช่นเคย แต่ในเรื่องนี้จะเป็นแค่พาร์ทเล็ก ๆ ที่กล่าวถึงมิตรภาพของผู้ชายในโรงเรียนเดียวกัน คนหนึ่งเป็นช่างภาพ อีกคนเป็นนักกีฬาของโรงเรียนที่ต้องมาเจอกันทุกวันช่วงค่ำ ๆ ทั้งสองคนต่างพบกันในเวลาสั้น ๆ แล้วก็ต้องจากกันตลอดกาลเพราะอีกคนประสบอุบัติเหตุรถทัวร์คว่ำ แนะนำว่าให้ดูโดยรวมทั้ง 3 พาร์ท จะได้ทั้งความรัก ความสุข ความทรงจำที่อบอุ่น สมกับชื่อหนังจริง ๆ
poster_7487

  1. พี่ชาย My Bromance (2557)

หนังเกย์โดยผู้กำกับชาวเชียงใหม่ที่จัดฉายแค่ไม่กี่โรง (เพราะเป็นหนังต้นทุนน้อย) พูดถึงรักของพี่น้องคนละพ่อคนแม่ที่ต้องมาอยู่บ้านเดียวกัน จากพี่ชายที่เคยเกลียดน้องที่เป็นลูกเมียน้อย ตอนหลังก็กลายเป็นสงสาร และรักกันแบบชู้สาวในที่สุด เพราะการดำเนินเรื่องที่ไม่ต่างจากหนังสั้นทั่วไป หนังเรื่องนี้จึงไม่ได้เสียงตอบรับมากเท่าที่ควร แม้จะจำกัดโรงฉายหรือออกตัวว่าเป็นหนังเพศทางเลือกก็ตาม
How-to-Win-at-Checkers-Poster

  1. พี่ชาย my hero (2558)

1 ในหนังที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลหนัง LGBT ในบ้านเรา น้องชายเล่าเรื่องถึงพี่ชายที่เคยมีแฟนเป็นลูกเศรษฐี แต่พอถึงคราวที่ต้องเกณฑ์ทหารเหมือนกัน แฟนหนุ่มกลับได้รับการวิ่งเต้นจากผู้ใหญ่ให้หลุดพ้นไปได้ ในขณะที่พี่ชายที่ยากตนกลับต้องจำนนต่อโชคชะตาตนเองไปเป็นทหารครบตามกำหนด แล้วกลับดิ้นรนทุกอย่างเพื่อน้องอีกต่อไป หนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่สะท้อนชีวิตของเกย์ แต่ยังสะท้อนถึงชนชั้นวรรณะ การตั้งคำถามให้กับสังคม (อย่างน้อยก็เรื่องการเกณฑ์ทหาร) เป็นอีกเรื่องที่น่าติดตามดูในความเป็นดราม่านี้ค่ะ

11696545_10204846644229101_4234152521961421637_o-426x600

  1. อนธการ the blue hour (2558)

เป็นหนังอีกเรื่องเช่นกันที่ได้รับคัดเลือกให้ฉายในเทศกาลหนังLGBT พูดถึงการตั้งคำถามว่าคนเป็นเกย์ชีวิตต้องหมองหม่นเสมอไปหรือไม่ ทั้งจากการที่ครอบครัวไม่ยอมรับ, การสร้างเงื่อนไขเพื่อการยอมรับความเป็นเกย์, ตลอดจนความรักที่ไม่มีที่มาที่ไป ทุกอย่างในเรื่องล้วนแต่มืดมนอนธการ ยังรอคำตอบอีกต่อไป เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจดูเพื่อฝึกความคิด ฝึกการตั้งปัญหาค่ะ แนะนำอีกจริง ๆ สำหรับแนวดราม่าเรื่องนี้

 

สรุปแล้ว

– หนังไทยบ้านเราที่มีตัวละครเป็นชายรักชาย แบ่งเป็น 2 แนวค่ะ คือคอมเมดี้ และ ดราม่า

– ถ้าเป็นแนวคอมเมดี้ จะออกไปทางล้น ๆ โปกฮา หาสาระไม่ได้ บางคนจึงมักจะคิดว่ากะเทยเป็นคนตลก ชอบทำอะไรแปลก ๆ บ้าบอ ๆ เสมอ

– ถ้าเป็นแนวดราม่า ส่วนมากจะเซ็ตให้ตอนจบเป็นโศกนาฏกรรม ไม่สมหวัง ในขณะที่บางส่วน (โดยเฉพาะในระยะหลังมานี้) เริ่มเป็นดราม่าที่สะท้อนสังคม ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว หนังในแนวนี้ไม่เพียงแต่เสนอให้มองว่าเรื่องเพศควรเป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่มีการแบ่งชนชั้นกัน เรื่องอื่น ๆ ก็ควรได้รับความเท่าเทียมกัน ไม่ถูกเหยียดหยามหรือเลือกปฏิบัติด้วยเช่นกัน

 

สรุปอีกที

หนังเกย์/กะเทยเราที่มีเป็นร้อยเรื่อง ถือว่าเป็นเรื่องดีค่ะที่แสดงให้เห็นว่าคนในสังคมเริ่มเปิดกว้างมากขึ้นกับเพศทางเลือก แต่จะเลือกดูเรื่องไหน ดูแล้วได้อะไรบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับคนดูแล้วค่ะว่าจะหยิบยกอะไรไปในแต่ละเรื่อง และพร้อมหรือยังที่จะแยกแยะระหว่างในหนังกับเรื่องจริง อีกทั้งเคยหรือไม่ที่จะตั้งคำถามให้กับสิ่งรอบตัวเรา … เพราะบางที สิ่งที่เราเห็น อาจไม่เป็นเช่นที่เราเห็นเสมอไปก็ได้ค่ะ : )

About thailgbt 52 Articles
พูดคุยเกี่ยวกับชาวLGBTบ้านเราแบบง่าย ๆ สบาย ๆ อ่านเข้าใจง่าย ศัพท์ไม่ยาก ไม่วิชาการเกินไป แชร์จากประสบการณ์บ้าง จากสื่อที่รู้เห็นมาบ้าง

Be the first to comment

Leave a Reply